หากพูดถึงวงการเสื้อผ้าสไตล์ฟาสต์แฟชั่นละก็ คงจะนึกถึงแบรนด์ไหนไปไม่ได้เลยนอกจาก Forever 21 ก็แหงล่ะเขาสามารถดีไซน์เสื้อผ้าที่มีความทันสมัยตามเทรนด์ แถมยังมีหลากหลายสไตล์ให้เลือกตามต้องการของลูกค้าในราคาที่เอื้อมถึงด้วยนะ
เรียกได้ว่า Forever 21 ตอบโจทย์ลูกค้าสายแฟชั่นได้เป็นอย่างดีเลยล่ะ Forever 21 เลยกลายเป็นแบรนด์เสื้อผ้าในดวงใจของลูกค้าหลายๆ คนมานานหลายปี ฟังดูเหมือนทุกอย่างจะไปได้สวยใช่ไหม แต่เพื่อน ๆ เคยได้ยินประโยคนี้กันไหมคะ “ โลกนี้ไม่มีอะไรอยู่ถาวร ”
ในปี 2562 ที่ผ่านมา Forever 21 ยื่นประกาศล้มละลายสายฟ้าแลบ ทำเอาสาวก Forever 21 หลาย ๆ คนตั้งคำถามกันมากมาย เกิดอะไรกับธุรกิจนี้กันแน่ วันนี้แอดมินจะสรุปให้ฟังค่ะ
ถอดบทเรียนธุรกิจเสื้อผ้า Forever 21 (กดเลือกอ่านได้)
จุดเริ่มต้นของแบรนด์ Forever 21
เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงจะรู้จักแบรนด์ชื่อดัง Forever 21 สัญชาติอเมริกา แต่แท้จริงแล้ว ผู้บุกเบิกแบรนด์เป็นชาวเอเชียนะรู้ยัง Forever21 ก่อตั้งโดยสองสามีภรรยาชาวเกาหลีใต้ “Jin Sook” และ “Do Wong Chang” ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความฝันแบบ American Dream
รูปจาก Forbes : คุณ Jin Sook และคุณ Do Wong Chang
พวกเขาอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่ Los Angeles สหรัฐอเมริกา ในปี 1981 พูดภาษาอังกฤษได้งูๆปลาๆ ไม่มีต้นทุนที่มากมาย ไม่มีปริญญา แต่พวกเขาไม่ยอมแพ้ Do Wong Chang เคยให้สัมภาษณ์ว่า “I noticed the people who drove the nicest cars were in all the garment business” ด้วยความฝัน, แรงผลักดัน ได้จุดประกายขึ้น จนพวกเขาสามารถเปิดร้านเสื้อผ้าเล็กๆ เป็นของตัวเองได้ ในชื่อ Fashion 21

Forever21 สาขาแรก
หลังจากเปิดไปสักพักปรากฏว่าขายดีแบบเทน้ำเทท่า พวกเขาจึงเห็นโอกาสและเริ่มขยายฐานลูกค้า ขยายสาขาไปยังรัฐอื่นๆ อย่างรวดเร็ว ทั้งในอเมริกาและบุกตลาดยุโรป เอเชียและอีกหลายๆ ประเทศ มีหน้าร้านมากกว่า 800 สาขาทั่วโลก และได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น Forever 21 อย่างที่เรารู้จักกันจนถึงทุกวันนี้
การเดินทางของ Forever 21 กับอุปสรรคถาโถมเข้ามา
หลายๆ คนคงจะเคยได้ยินคำว่า Technology Disruption มันก็คือการเปลี่ยนแปลงที่มาจากเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่เกิดขึ้นมาใหม่ ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและวิถีการดำเนินธุรกิจด้วย ถ้าหากเราไม่ปรับตัวไปตามการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราก็จะไม่สามารถไปต่อในสนามธุรกิจนี้ได้
ตัวอย่างเช่น Kodak ที่เคยเป็นกรณีศึกษาในอดีต และ Forever 21 ธุรกิจเสื้อผ้า เดรสแฟชั่นชื่อดังก็กำลังเดินตามรอยบทเรียนความล้มเหลวของ Kodak นั่นเอง แอดมินจะอธิบายให้เข้าใจมากขึ้นนะคะ เนื่องจากอิทธิพลของเทคโนโลยีที่เข้ามา ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป
การไปซื้อเสื้อผ้าที่ห้างสรรพสินค้าไม่เป็นที่นิยมนัก ผู้บริโภคยุคใหม่หันมาซื้อเสื้อผ้า เดรส กระเป๋า รองเท้า ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำเอาหลายแบรนด์ต่างก็ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์หันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการขายสินค้า ไม่ว่าจะเป็น เว็บไซต์ของตัวเอง, Line shopping, Lazada, Shopee และหลายๆ แพลตฟอร์ม เพื่อให้ตอบโจทย์ Lifestyle ที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค รวมถึงยังต้องลดต้นทุนที่หนักอึ้ง อย่างเช่น ค่าเช่าร้านค้าที่มีจำนวนมหาศาลออกไปด้วย
แต่ก็ไม่ใช่ทุกแบรนด์ที่จะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์นะ อย่างเช่น Forever 21 เลือกที่จะยึดติดอยู่กับการขายเสื้อผ้าแบบดั้งเดิมโดยอาศัยหน้าร้าน หนำซ้ำกว่านั้นยังเปิดสาขาใหม่ๆ ขยายร้านที่มีอยู่ให้ครอบคลุมเสื้อผ้าผู้ชาย เด็ก รวมถึงของใช้ในบ้าน ซึ่งแน่นอนว่า Forever 21 โดนผลกระทบที่หนักกว่าแบรนด์อื่นๆ อย่าง H&M, Zara แน่นอน
เพราะ Forever 21 เขาออกแบบพื้นที่หน้าร้านที่มีขนาดใหญ่ราวๆ 38,000 ตารางฟุต มากกว่าร้านค้าอื่นอีกเท่าตัวเลยทีเดียว เพื่อนๆ พอจะนึกภาพออกกันแล้วใช่ไหมคะ ด้วยค่าเช่าพื้นที่มหาศาลในหลายๆ สาขาที่ Forever 21 ต้องแบกรับกับรายได้ที่ลดลงเรื่อยๆ ในยุคดิจิทัลนี้ อนาคตของแบรนด์เสื้อผ้าสายแฟชั่นนี้จะเป็นยังไงต่อไป
Forever 21 กำลังเผชิญหน้ากับเทรนด์รักษ์โลกที่กำลังมาแรงแซงหน้าฟาสต์แฟชั่น
อย่างที่หลายๆ คนพอจะทราบกันว่า Forever 21 เปรียบเหมือนสัญลักษณ์ของอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นที่ผลิตสินค้าในราคาย่อมเยา คนมากมายสามารถเข้าถึงสินค้าได้ง่าย เน้นการผลิตเสื้อผ้าอย่างรวดเร็วในปริมาณมากๆ (mass product) มาไวไปไว เปลี่ยนไปตามกระแส ตามยุคตามสมัย
แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายคนอาจจะหลงลืมไปจากอุตสาหกรรมนี้ก็คือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะส่งผลมากน้อยแค่ไหน มาฟังแอดมินเล่ากันค่ะ ฝ้ายเป็นพืชที่ต้องการปริมานน้ำมากอยู่แล้ว การปลูกฝ้ายเพื่อนำมาผลิตเสื้อผ้าจึงจำเป็นต้องใช้น้ำมหาศาล หลังจากผลิตเสร็จ โรงงานทอผ้ายังปล่อยน้ำเสียออกสู่ชุมชนอีก ด้วยสาเหตุนี้แหละ ทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มหันมาให้ความใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
พวกเขาเปลี่ยนมาบริโภคเสื้อผ้ารักษ์โลก แบบแฟชั่นยั่งยืนหรือ Sustainable Fashion มากกว่าเมื่อก่อนและลดการบริโภคฟาสต์แฟชั่น ส่งผลให้ธุรกิจ Forever 21 ไม่ใช่แบรนด์ที่หลายคนเลือกเป็นอันดับหนึ่งเหมือนเมื่อก่อน ความต้องการของแบรนด์ก็ลดลงตามไปด้วย
การเดินทางของ Forever 21 กำลังจะถึงจุดจบหรือไม่ ?
ในปี 2562 แบรนด์เสื้อผ้าสายแฟชั่น อย่าง Forever 21 ได้ประกาศล้มละลายตามมาตรา11 ของสหรัฐอเมริกาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังเผชิญหน้ากับวิกฤตที่ถาโถมเข้ามาในหลายๆ ปีที่ผ่านมา แอดมินเชื่อว่าคงเป็นที่น่าช็อคไปตามๆ กัน
สำหรับสาวก Forever 21 หลายๆ คน ทางแบรนด์ยังประกาศอีกว่าเขาจะปิดกิจการสาขาในสหรัฐอเมริกา, ยุโรป, เอเชียรวมถึงประเทศไทยด้วย แต่ยังคงดำเนินกิจการในเม็กซิโกและลาตินอเมริกา
สรุป
Forever 21 ฟังดูผิวเผินก็อาจจะเหมือนกับหลายๆ แบรนด์ที่เริ่มต้นจากการมีแรงบันดาลใจ มีความฝัน ความพยายาม ที่นำมาพวกเขาให้ประสบความสำเร็จ แต่สิ่งหนึ่งที่ Forever 21 ยังขาดหายไปก็คือ Adaptability การปรับตัวอย่างรวดเร็ว
ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับผู้ประกอบการในแวดวงธุรกิจที่จำเป็นต้องรับมือและเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หวังว่าสาระที่แอดมินนำมาฝากวันนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการหลายๆ คนและผู้ที่กำลังจะเริ่มทำธุรกิจของตัวเองนะคะ
แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านี้นะคะ แอดมินได้ยินคร่าวๆ มาว่า Forever 21 กำลังจะกลับมาในรูปโฉมใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิม ถ้าเพื่อนๆ อยากรู้กัน เดี๋ยวแอดมินจะมาเล่าให้ฟังในบทความต่อๆ ไปอีกค่ะ