แชร์แบ่งปันกับเพื่อนๆ ได้เลย

สำหรับใครที่ยังไม่เคยใช้เครื่องมือฟรีดีๆ ก็ลองมาอ่าน วิธีใช้ Google Keyword Planner กันเลยดีกว่า ส่วนใครที่เคยทำ SEO อยู่แล้วก็จะคุ้นเคยกันดีกับเครื่องมือตัวนี้ เพราะเกี่ยวข้องกับการทำ Google Ads และการทำ SEO SEM ในระดับที่มากพอสมควร

สำหรับใครที่คิดว่าตัวเครื่องมือนี้จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อเราต้องเสียเงินจ่ายค่าโฆษณา และต้องมีเว็บไซต์ แต่จริงๆ แล้วยังไม่ต้องมีสิ่งเหล่านี้ก็สามารถเข้าไปใช้ฟรีๆ กันได้เลย เพียงแค่คุณมีบัญชีของ Google Ads ก็สามารถสมัครล็อกอินใช้งานได้ทันทีเพื่อใช้งาน Keywords Planner ฟรี แต่ถ้าใครยังไม่มีก็มาสมัครไปพร้อมๆ กันได้เลย

(อ่านดีๆ มี Bonus ให้ไว้ต่อยอดด้วยนะ)

1. Google Keyword Planner คืออะไร

Google Keyword ใช้ยังไง

Google Keyword Planner เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับการทำ Google Ads บน Google ซึ่งจะใช้เว็บไซต์และข้อมูลต่างๆ ของเราในการโฆษณา โดยตัวเครื่องมือนี้จะใช้ค้นหาคีย์เวิร์ดต่างๆ เพื่อนำไปทำโฆษณา โดยเราสามารถเลือกเองได้ว่าต้องการใช้คีย์เวิร์ดใดสำหรับทำโฆษณาผ่านตัว Keywords Planner ได้เหมือนกัน

อันนี้คือตัวอย่างที่ใช้ Keyword ในการทำโฆษณา Google Ads ด้วยเว็บไซต์

วิธีทำ SEM

Trick เล็กน้อย คุณสามารถใช้เครื่องมือช่วยค้นหาอย่าง Extension Ubersuggest มาช่วยในการค้นหาได้เหมือนกัน มันจะบอกจำนวนคนค้นหาด้วยคีย์เวิร์ดดังกล่าว และคำที่เกี่ยวข้องคร่าวๆ ไว้ให้คุณเอาไปต่อยอดในการขายสินค้าได้ อย่างรูปด้านล่างถ้าติด Ubersuggest แล้วเวลาค้นหาก็จะเห็นตามรูปเลย เดียวแอดจะเขียนวิธีใช้งานคู่กันให้ด้านท้ายบทความนะ

เช็คคีย์เวิร์ดด้วย Ubersuggest

Keyword Planner ก็รู้จักไปแล้ว เราก็มาทำความรู้จักกับ Keyword (คีย์เวิร์ด) กันด้วยดีกว่า

Keyword คือ คำหรือกลุ่มคำที่ผู้คนใช้ค้นหาสิ่งต่างๆ หรือถ้าเป็นผู้ที่เขียนบทความอาจจะใช้สำหรับเป็นหัวข้อที่จะเขียนเพื่อสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ให้กับผู้อ่านได้รับทราบ ซึ่ง Keyword ก็สามารถแบ่งประเภทได้อีกคือ

1.1. Focus Keyword

โดยจะเป็นลักษณะคำสั้นๆ เจาะจงกับการค้นหา เช่น

เพื่อช่วยในการกำหนดหัวเรื่องในการเขียนบทความ หรือใช้สำหรับการค้นหา โดยส่วนมากมักจะใช้กับการทำ SEO มากกว่า

1.2. Longtail Keyword

เป็น Keyword ที่มีประโยคยาวๆ หรือพูดง่ายๆ ก็คือคำสร้อยหรือคำขยายความนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น

  • โฆษณา Facebook มือใหม่ทำยังไง
  • ทำเว็บ WordPress ด้วยธีมสวยๆ ฟรี
  • ขายของออนไลน์ขายอะไรดี

ประโยคที่ต่อท้ายไฮไลท์สีแดงนั้นคือคำขยายจาก Focus Keyword อีกที ซึ่งหากรวมประโยคทั้งหมดเข้าด้วยกันจะเรียกว่า Longtail Keyword นั่นเอง

โดยหลักๆ ประเภทของ Keyword ก็จะมีด้วยกัน 2 ประเภทตามที่เกริ่นไว้ตอนแรก แต่นอกจากนี้อาจจะเห็นบทความที่เขียนผิดบ้างก็เป็นได้ เนื่องจากบางทีจะมีคำผิดที่คนนิยมเขียนกันผิดบ่อยๆ จนกลายเป็นว่าคำผิดนั้นมีอัตราความนิยมในการค้นหามากกว่าคำที่เขียนถูกเสียอีก

ยกตัวอย่างเช่น Facebook หากอ้างอิงจากคำทับศัพท์ของราชบัณฑิตยสภาต้องเขียนว่า “เฟซบุ๊ก” แต่คนดันนิยมค้นหาด้วยคำว่า “เฟสบุ๊ค” มากกว่าเสียอีก สามารถดูได้จากด้านล่างเลย

คำค้นหา Facebook

อยากเขียน Content แต่ไม่รู้จะเขียนยังไงดี สามารถเริ่มศึกษาได้จากบทความ วิธีเขียนคอนเทนต์ให้โดนใจผู้เขียนถูกใจผู้อ่าน

สำหรับตัว Google Keyword Planner ก็สามารถใช้เช็คปริมาณคร่าวๆ ของ Keyword นั้นๆ ได้เหมือนกัน หากใครที่สมัครใหม่จะแสดงผลโดยประมาณเท่านั้น หากต้องการดูแบบตัวเลขจริงๆ ได้และมีกราฟให้ดู จำเป็นจะต้องใช้จ่ายงบโฆษณาของ Google Ads ในระดับหนึ่งก่อน แล้วทาง Google ถึงจะเปลี่ยนตัวแสดงผล Keyword Planner ให้เราโดยอัตโนมัติ

สำหรับภาพด้านล่างจะเป็นหน้า Google Keyword Planner แบบที่สมัครแล้วแต่ยังไม่ได้ใช้สำหรับการยิงแอด Google มาก่อน ก็จะเป็นหน้าตาตามนี้เลย

จริงๆ มันสามารถกรองคีย์เวิร์ดการค้นหาใน Shopee และ Lazada ได้ด้วย เดียวแอดจะมาเขียนแยกวิธีการใช้งานแบบละเอียดให้อีกทีเผื่อคนที่ขายของบนแพลตตฟอร์ม eCommerce

วิธีหาคีย์เวิร์ด

2. วิธีสมัครใช้งาน Google Keyword Planner

สมัคร Google Keyword

เริ่มต้นจากการเปิดหน้าของ Google Keyword Planner ก่อน หรือจะค้นหาใน Google ก็ได้แล้วเลือกที่อันแรกเลย

หน้า Google Keyword

พอเข้ามาแล้วก็ไปคลิกที่ “เริ่มเลย” ตรงปุ่มที่อยู่ด้านขวามือ

สมัคร Google Ads

เมื่อกดเข้ามาแล้ว ก็จะเจอหน้าให้ลงชื่อเข้าใช้งาน เราสามารถกรอก Gmail ที่เรามีอยู่ผูกเข้ากับบัญชี Google Ads ก่อนได้เลย เมื่อเราล็อกอินเสร็จก็จะถูกพาไปที่หน้าเลือกบัญชี จากนั้นเราก็เลือกบัญชีที่กรอกอีเมลได้เลย

สมัคร gmail

เมื่อล็อกอินด้วยบัญชี Gmail เสร็จเรียบร้อย Google Ads ก็จะนำเรามาที่หน้าในการตั้งค่าแคมเปญ จากนั้นให้เรากดไปที่ “เปลี่ยนเป็นโหมดผู้เชี่ยวชาญ” เพื่อที่เราจะใช้เฉพาะ Google Keyword Planner ส่วนแคมเปญสามารถทำทีหลังได้

ตั้งค่า Google Keyword

เมื่อเรากดที่เปลี่ยนเป็นโหมดผู้เชี่ยวชาญแล้วก็จะนำเรามาที่หน้าเป้าหมายธุรกิจเลย ต่อจากนั้นให้เรากด “สร้างบัญชีโดยไม่สร้างแคมเปญ”

วิธีใช้ Google Ads

หากเรากดสร้างบัญชีแล้ว ให้เรากดยืนยันธุรกิจโดยกดปุ่ม “ส่ง” และเมื่อกดส่งแล้วก็จะมีข้อความแสดงความยินดีที่เราสร้างสำเร็จ จากนั้นกดปุ่มสำรวจบัญชีได้เลย

google keyword planner คือ

หากเรากดปุ่มสำรวจบัญชีแล้ว มันก็จะนำเรามา Dashboard ของแคมเปญ แค่นี้ก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว

แคมเปญโฆษณา Google

3. ศัพท์ที่น่าสนใจก่อนเริ่มหา Keyword

สอนใช้ Google Keyword Planner

มาดูกันดีกว่าว่ามีคำอะไรบ้างที่ต้องรู้ก่อนหา Keyword เพื่อที่คุณจะได้เข้าใจมากยิ่งขึ้นว่ามันคืออะไร สามารถดูตามตัวเลขจากรูปด้านบนได้เลย แอดจะไล่ทีละข้อ

google keyword planner ฟรี

1. การค้นหารายเดือนโดยเฉลี่ย คือ ปริมาณการค้นหาต่อเดือนในคีย์เวิร์ดนั้นๆ อย่างคีย์เวิร์ดอาหารไทยของแอดค้นหาอยู่ที่ 10K – 100K ต่อเดือน

ตัวเลขย่อๆ ของ Google คือจำนวนเท่าไหร่

1K = 1,000

10K = 10,000

100K = 100,000

1M = 1,000,000

2. เพิ่มตัวกรอง สามารถกรองได้ว่าจะให้แสดงรายการใด เช่น การแข่งขันเราก็สามารถเลือกการแสดงผลได้ทั้ง สูง กลาง หรือต่ำ ได้

3. การแข่งขัน หมายถึง ความยากง่ายในการจัดลำดับโฆษณาสูงก็คือมีการแข่งขันในด้านพื้นที่โฆษณาสูงมากนั่นเอง

4. ราคาเสนอสำหรับด้านบนของหน้า (ช่วงต่ำ) คือ ราคา Cost Per Click แต่ละครั้งของการกดเข้าชมโฆษณาที่ถูกที่สุด

5. ราคาเสนอสำหรับด้านบนของหน้า (ช่วงสูง) คือราคา Cost Per Click แต่ละครั้งของการกดเข้าชมโฆษณาที่สูงกว่าที่ผู้ลงโฆษณาเคยจ่ายไป

6. ปรับแต่งคีย์เวิร์ด คือ เป็นการเลือกกรองเกี่ยวกับคอนเทนต์หรือคีย์เวิร์ดที่มาจากแบรนด์ใหญ่ๆ โดยตรง เช่น Facebook Amazon Google โดยจะให้รวมอยู่หรือไม่ก็ได้

7. สามารถเลือกวัน เดือน ปี ที่เกิดการค้นหาคีย์เวิร์ดได้

8. เครือข่ายการค้นหาจะมีให้เลือกเฉพาะ Google ก็ได้หรือจะเลือกทั้ง Google และพาร์ทเนอร์ก็ได้

คำเหล่านี้เป็นคำที่อาจจะต้องทำความเข้าใจ เพื่อที่เราจะได้รู้เกี่ยวกับความหมายและผลลัพธ์ที่ Google แสดง และเพื่อจะได้ใช้ Google Keyword Planner ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้การใช้ Keywords Planner คุณสามารถนำหัวข้อที่เราค้นหาไปเขียนคอนเทนต์ได้อีกด้วยเช่นกัน

การเขียนพาดหัวให้ปังทำได้ไม่ยาก เพิ่มยอดขายได้ชัวร์ ก็อปวางเป็นของคุณได้ทันทีแบบง่ายๆ

4. วิธีการหา Keyword ที่ต้องการ

หาคีย์เวิร์ดเพื่อทำ SEO

จากหน้า Dashboard ให้เราดูที่มุมขวาบนของจอแล้วไปเลือก เครื่องมือและการตั้งค่า > การวางแผน > เครื่องมือวางแผนคีย์เวิร์ด

วิธีหา keyword สินค้า

เมื่อเรากดที่ “เครื่องมือวางแผนคีย์เวิร์ด” เรียบร้อยแล้ว ก็จะเจอกับการเลือกวิธีหาคีย์เวิร์ด ให้เราเลือกในกล่องที่วงสีแดงตามภาพด้านล่างได้เลย

หาคีย์เวิร์ดทำ SEO

พอกดเข้ามาแล้ว เราก็กรอกคีย์เวิร์ดที่เราต้องการค้นหาลงไปได้เลย อย่างในตัวอย่างแอดหาคำว่า “อาหารไทย” หากใครต้องการหามากกว่า 2 คำ ให้เรากรอกคีย์เวิร์ดคำแรกที่ต้องการแล้วกด Enter 1 ทีให้มันขึ้นเป็นสีฟ้าๆ ก่อน

จากนั้นพิมพ์อีกคีย์เวิร์ดที่เราต้องการลงไปได้เลย ทีนี้เราก็สามารถเปรียบเทียบพร้อมกันได้แล้ว ในตัวอย่างนี้แอดจะทำคีย์เวิร์ดเดียวไปก่อน จากนั้นกดดูผลลัพธ์ได้เลย

ค้นหาคีย์เวิร์ด SEO

เมื่อเรากดดูผลลัพธ์แล้วเราก็จะเห็นได้ว่าคีย์เวิร์ดที่เราหามีปริมาณการค้นหาเฉลี่ยเท่าไหร่ และคีย์เวิร์ดใกล้เคียงมีการค้นหาเป็นจำนวนเท่าไหร่บ้าง แค่นี้ก็เรียบร้อยแล้วสำหรับการหาคีย์เวิร์ดทำ SEO ทำบทความต่างๆ หรือแม้กระทั่งประยุกต์กับการขายสินค้า

คีย์เวิร์ดตั้งชื่อสินค้า

5. ไอเดียนำ Google Keyword Planner ไปประยุกต์ใช้

หาไอเดีย keyword

การใช้ Google Keyword Planner ไม่ใช่เพียงแค่สำหรับการค้นหาเพื่อดูจำนวนเท่านั้น แต่เรายังสามารถไปประยุกต์ใช้กับอย่างอื่นได้อีกด้วย เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากเลยทีเดียว เราสามารถประยุกต์ใช้กับอะไรได้บ้างมาดูกันเลย

5.1. ประยุกต์ใช้ในการหาสินค้ามาขาย

เครื่องมือนี้สามารถบอกได้ถึงจำนวนการค้นหาต่อเดือน ซึ่งเราสามารถนำข้อมูลที่เราหาได้ไปวิเคราะห์ต่อได้ว่าสินค้าตัวนี้ได้รับความนิยมมากน้อยเพียงใด แต่เราต้องรู้ “คีย์เวิร์ด” สินค้าที่ลูกค้าจะค้นหาด้วยนะ

แนวคิดคีย์เวิร์ด

จากในภาพด้านบน ลองค้นหาด้วยเสื้อกันฝนดู ผลปรากฏว่าในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีการค้นหาเพียงแค่ 1 – 10K เท่านั้น แสดงว่าสินค้าตัวนี้อาจจะไม่ได้รับความนิยมในช่วงนี้ หากย้อนกลับไปช่วงเดือนกันยายนปี 2020 ช่วงนั้นความต้องการคนเยอะขึ้นอาจจะเป็นช่วงหน้าฝน ดังนั้นสินค้าตัวนี้อาจจะขายได้ช้าหน่อย หากเราเจอแล้วว่าสินค้าอะไรที่เราจะขาย เราค่อยไปหาแหล่งซื้อสินค้านั้นๆ เพื่อนำมาขายอีกทีหนึ่ง

5.2. วางแผนทำการตลาด

สำหรับธุรกิจต่างๆ ก็สามารถเอาตัวเลขเหล่านี้มาใช้คาดการณ์ประกอบกับธุรกิจของตัวเองได้เช่นกัน แต่สำหรับข้อมูลที่ได้มาอาจจะต้องใช้เครื่องมือตัวอื่นๆ ช่วยในการวิเคราะห์ด้วยเช่นกัน เพื่อให้ข้อมูลมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น และเป็นการช่วย Re-Check ให้มั่นใจอีกทีว่าข้อมูลที่ได้รับนั้นถูกต้องหรือไม่

5.3. ช่วยทำคีย์เวิร์ดสินค้าได้

บางครั้งการจัดจำหน่ายสินค้าหรือบริการเราอาจจะตั้งในมุมของผู้ขาย มุมเจ้าของ แต่ไม่ได้ตั้งในมุมของลูกค้าว่ากลุ่มลูกค้าจะค้นหาด้วยคำว่าอะไร ข้อผิดพลาดส่วนใหญ่คือตั้งชื่อสินค้าตามใจตัวเอง ไม่ได้ตั้งตามที่คนค้นหา ทำให้โอกาสในการมองเห็นสินค้าของเราลดลง

ตัวอย่างแอดจะลองขายตัวขยายสัญญาณเน็ต แต่ไม่รู้ลูกค้าจะค้นหาโดนคำว่าอะไรก็ลอง Search หาดูก่อนด้วยคำว่า “อุปกรณ์ขยายสัญญาณ” ปรากฏว่าคำที่แอดหานั้นคนค้นหาน้อยมาก ก็เลยไปดูแนวคิดคีย์เวิร์ดอื่นๆ ปรากฏว่า Volume น่าจะดีกว่า ก็เลยคิดจะหยิบตัวแนวคิดคีย์เวิร์ดมาใช้งาน

ในช่องการแข่งขันก็สำคัญมากนะ ยิ่งการแข่งขันสูงการค้นหาสินค้าเราก็ยากตามไปด้วย ทางที่ดีใช้คีย์เวิร์ดที่คนค้นหาในระดับหนึ่งและการแข่งขันไม่สูงก็สามารถช่วยได้เยอะเลยทีเดียว

วิธีตั้งชื่อสินค้า

5.4. ใช้สำหรับทำ SEO

SEO ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่บอกเลยว่ามีผลเป็นอย่างมากในการเรียก Traffic แบบฟรีๆ ให้ลูกค้าเข้ามาในเว็บไซต์ของเรา ยิ่งเราทำ Keyword ดี สม่ำเสมอ ตรงตามหลักของ Google มากเท่าไหร่ ผลลัพธ์ในการจัดอันดับก็จะดีมากขึ้นเท่านั้น

นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในด้านของการมองเห็นใน Google ได้แบบระยะยาวอีกด้วยเช่นกัน โดยสำหรับ SEO ก็มักจะใช้คู่กันกับ SEM อยู่แล้วเป็นปกติ

Facebook เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถค้นหาเจอได้ด้วย Google หากโพสต์ของเราหรือเพจของเรามีคีย์เวิร์ดที่ตรงกับคนค้นหาใน Google มันก็จะดึงมาแสดงด้วยหากเนื้อหานั้นตรงกับสิ่งที่คนค้นหาต้องการ แต่การทำ Facebook SEO นั้นค่อนข้างยากพอสมควร

Bonus Time แจกโบนัสให้คนอ่านถึงตรงนี้

ในโบนัสตัวนี้จะหาเครื่องมือฟรีที่ใช้สำหรับทำคู่กันกับ Google Keyword Planner เพื่อให้เกิดผลลัพธ์และประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ใช้งานได้มากยิ่งขึ้นเลยทีเดียว (อันนี้เป็นเทคนิคส่วนตัวของแอด สามารถเอาไปต่อยอดกันได้เลย)

ใช้งาน Google Trend คู่กัน

สำหรับใครที่คุ้นเคยกับเครื่องมือตัวนี้อยู่แล้วก็คงใช้งานได้ไม่ยากเย็น แต่ถ้าหากใครยังไม่เคยใช้แล้วไม่รู้จะเริ่มยังไง ลองไปอ่านที่บทความ Google Trends เครื่องมือฟรี แต่มีพลังเยอะมาก มีทั้งการสอนวิธีใช้ และทริคเล็กๆ น้อยๆ ที่คุณอาจจะยังไม่รู้ สำหรับการใช้คู่กันนั้นเริ่มต้นเราอาจจะหาตัวคีย์เวิร์ดจากตัว Keyword Planner มาก่อน แล้วนำไปเช็คใน Google Trend อีกครั้งหนึ่ง

ใช้แบบ Triple Combo เพิ่มความแม่นยำ

เพื่อความชัวร์ในการเช็ค อาจจะใช้ตัว Google Keyword Planner ในการหาคีย์เวิร์ดก่อนแล้วนำไปเช็คใน Google Trend อีกครั้ง รวมถึงเพื่อให้เห็นตัวเลขการค้นหาที่พอจะอนุมานได้ก็นำ Ubersuggest เข้ามาช่วยดูข้อมูลเหล่านั้นอีกทีหนึ่ง

Ubersuggest

หน้าตาของ Ubersuggest

สรุปวิธีใช้แบบ Triple Combo ง่ายๆ เลยคือ

– หาคีย์เวิร์ดจาก Google Keyword Planner ก่อนหรือ Ubersuggest ก่อนก็ได้

– เอาคีย์เวิร์ดไปเช็คใน Google Trend อีกรอบ ที่สามารถดูจังหวัดและความนิยมในการค้นหาได้

สามารถโหลด Extension Ubersuggest ให้ติดบน Google Chrome ได้เลย

Ubersuggest ตัวเครื่องมือจะอัพเดทล่าช้าประมาณ 1 – 2 เดือน ดังนั้นข้อมูลที่ได้อาจจะไม่ตรงมากนัก แต่ก็สามารถเอาตัวเลขที่ได้มาคาดการณ์ได้ในระดับหนึ่ง

สรุป

เครื่องมือที่ได้หยิบยกขึ้นมาพูดถึงวันนี้ Google Keyword Planner ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่มีประโยชน์รอบด้านพอสมควร แรกๆ หากใครที่สำหรับหาพวกคีย์เวิร์ดทำ SEO หาสินค้าหรือตั้งชื่อสินค้า ก็ยังสามารถเอาไปประยุกต์ต่อยอดสำหรับการทำคอนเทนต์เพื่อยิงแอดโฆษณาภายหลังได้อีก

นอกจากนี้สายพ่อค้าแม่ค้าเวลาหาสินค้ามาขายกันถ้านึกไม่ออก ก็ใช้พวกเครื่องมือเหล่านี้แหละมาช่วยในการตัดสินใจหาสินค้า หาไอเดียทำคอนเทนต์คำต่างๆ เพื่อไปใช้ในการโฆษณาได้อีก

ใครที่อ่านจบก็อยากให้เอาไปลองใช้ดู เพราะจริงๆ เครื่องมือนี้ไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิด (ยกเว้นเริ่มยิง Google Ads น่าจะซับซ้อนสำหรับหลายๆ คนแน่) หวังว่าผู้อ่านจะได้รับประโยชน์จากบทความนี้ไปไม่มากก็น้อย

บทความหน้าจะเป็นอะไร อย่าลืมติดตามข่าวสารจากเพจ มาให้อาหารสมองกันวันละนิดได้ที่เว็บไซต์และ

FB : www.facebook.com/marketinginsecret/

LINE@ : line.me/ti/p/~@marketinginsecret


แชร์แบ่งปันกับเพื่อนๆ ได้เลย
Shopping cart0
There are no products in the cart!
Continue shopping