การขายของไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจไหนหรือขายอะไร ยังไงก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของการตัดราคาเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แล้วเป็นปัญหาที่หลายคนมักจะปวดหัวและแก้ไม่ตก สุดท้ายแล้วก็ต้องยอมแพ้และถอยออกจากตลาดตรงนี้ไป ในคลิปนี้ถ้าคุณขายของอยู่ และเจอปัญหาการตัดราคา แอดแนะนำว่าควรดูให้จบ เพราะมันเอาไปใช้จริงๆ ได้อย่างแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเอาไปประยุกต์ใช้ยังไง
คุณกำลังโดนตัดราคาอยู่รึเปล่า ? ถ้าคุณโดนอยู่ ลองทำสิ่งนี้ดู (กดเลือกอ่านได้)
สาเหตุที่ทำให้เกิดการตัดราคา
สาเหตุที่ทำให้เกิดการตัดราคาขึ้นก็มีมาจากหลายสาเหตุ ซึ่งหลักๆ ก็จะมี
- ตัดราคาต่ำเพื่อเน้นปริมาณ เน้นสร้างฐานลูกค้า
- ตัดราคาเพื่อให้ตัวเองขายดีกว่าคู่แข่ง
- ปัญหาเรื่องการหมดอายุของสินค้า จึงต้องรีบระบายออก
ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาหลักๆ ของการตัดราคาเลยก็ว่าได้ แต่ส่วนใหญ่เชื่อว่าคนขายหรือคนทำธุรกิจมักจะเจอในข้อ 1 และข้อ 2 มากกว่า งั้นเรามาดูวิธีแก้ไขกันครับ
วิธีการแก้เมื่อคุณโดนตัดราคา
1. ไม่สนเรื่องตัดราคา
การทำแบบนี้เป็นวิธีกำปั้นทุบดินมากๆ พูดง่ายๆ คือ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้น เราก็ขายตามปกติไปแบบไม่มีอะไรเกิดขึ้น เรื่องการตัดราคามันเกิดขึ้นกับบางสินค้าอยู่แล้ว แต่ทีนี้บางสินค้าถึงตัดราคาไปก็ไม่ค่อยมีผลกระทบอะไรมากนัก ถ้าไม่ตัดกันแบบ 30 – 50% เลยอะไรแบบนั้น ซึ่งหลายคนจะเน้นว่าขายเอากำไร ไม่ได้ขายเอาจำนวน ถ้าตัดกันไม่หนักมาก 2 บาท 5 บาท 10 บาท ถ้าไม่จำเป็นเราก็ปล่อยไปเลยก็ได้
2. เสริมให้เด่นเรื่องบริการ
สิ่งที่จะดึงดูดลูกค้าได้เป็นอย่างดีอีกอย่างคือ การบริการหลังการขาย เพราะแอดสังเกตช่วงหลังๆ มาเนี่ย ลูกค้าเวลาซื้อของแล้วมีปัญหา ถ้าทางร้านมี Service ดีๆ หน่อย และได้รับรีวิวเกี่ยวกับด้านบริการที่ดีจากลูกค้า ก็จะเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจซื้อได้ง่ายยิ่งขึ้น ถึงแม้จะโดนตัดราคา แต่พฤติกรรมผู้บริโภคไม่ได้เห็นแก่ของถูกอย่างเดียว มีหลายคนที่ให้ความสำคัญกับทั้งคุณภาพและบริการด้วยเหมือนกัน
3. จัดแพ็คสินค้าไปเลย
การจัดแพ็คสินค้าเป็นการนำสินค้าที่มีลักษณะใกล้เคียงกันมาจับคู่กันเลย เพื่อเป็นการเพิ่มอัตราการขายสินค้า และทำให้คู่แข่งอาจจะไม่ทราบราคาสินค้าที่แท้จริงได้ถ้าเราไม่ลงขายเพียงแค่ตัวเดียวเดี่ยวๆ
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ ที่ทำจัดแพ็คได้ เช่น Boots จัดเซตสำหรับดูแลสุขภาพผิว เพียงซื้อ 2 ชิ้น 199 บาท สามารถคละกันได้ เป็นต้น
ขอขอบคุณรูปภาพจากเพจ Boots Thailand
4. จับมัดรวมหลายๆ ชิ้น
วิธีนี้ก็สามารถใช้ได้ดีเช่นกัน แต่มักจะเป็นสินค้าที่ซื้อเป็นปริมาณมาก การทำแบบนี้นอกจากจะสะดวกลูกค้าแล้ว ยังทำให้เราปล่อยสินค้าได้จำนวนมากๆ ใน 1 ครั้ง แอดยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ ก็ แมส KF94 ที่ตอนนี้ตลาดตัดราคากันสนุกสนาน และเห็นหลายคนบ่นเหมือนกันว่าได้กำไรบางที 50 สตางค์ 1 บาทบ้าง แต่บางคนแก้ด้วยการจัดเซต 5 แพ็ค ราคา 100 บาท ทำให้ได้กำไรเพิ่มมากขึ้น และยังช่วยดึงดูดลูกค้าเนื่องจากลูกค้าบางคนคิดว่าจัดโปร จึงทำให้หยุดอ่านและพิจารณาตัดสินใจซื้อได้เช่นกัน
แจกฟรี E-Book12 Tip&Trick รู้จักประยุกต์ใช้ สร้างขั้นบันไดสู่ความสำเร็จ
5. หาสินค้าทำกำไรเพิ่ม
ไม่มีสินค้าไหนที่จะขายดีได้ตลอดชีวิตของมันแน่ๆ เราต้องยอมรับว่าสินค้าทุกชิ้นทุกประเภทย่อมมีช่วงอายุของมัน ไม่มีอะไรที่ขายแล้วได้กำไรตลอด ให้นึกถึงกราฟ Product Life Cycle ไว้
หากสินค้าที่เราขายอยู่พบว่าโดนตัดราคารุนแรงเกินไป และรู้ว่าเราไม่สามารถทำราคาสู้คู่แข่งได้ขนาดนั้น เริ่มต้นก็ให้เราดูท่าทีไปก่อน แต่ถ้าประเมินแล้วไม่รอดแน่ๆ ก็ให้รีบระบายสต็อกออกไปทันที แล้วหาสินค้าใหม่ๆ มาทดแทนให้เป็นสินค้าขายดีประจำร้านไป
ซึ่งการหาสินค้าทำกำไรเพิ่มนั้น ถึงคุณจะไม่โดนตัดราคา แต่ใครที่ยังขายไม่ดี หรือต้องการเพิ่มยอดขายก็สามารถใช้วิธีนี้ได้ทั้งนั้น แต่ต้องยอมรับว่ามันไม่ได้หาง่ายๆ ต้องใช้เวลาในการหาและการขายสักนิด ที่สำคัญสินค้าร้านอื่นชิ้นนั้นชิ้นนี้ขายดี แต่บางครั้งเราเอามาอาจจะขายไม่ได้เลยก็มี อันนี้ต้องคิดเผื่อไว้หน่อยว่าเราเอามาสามารถทำการตลาดไหวหรือไม่
แต่สำหรับบางแพลตฟอร์มก็จะมีข้อมูลสินค้าขายดีมาให้ ดังรูปตัวอย่างด้านล่างของ Lazada ที่จะบอกว่าช่วงโปร 11.11 12.12 จะมีอะไรขายดีบ้าง
รูปภาพจาก Lazada Happy Selling
6. เช็คสินค้าของเราจากมุมของผู้บริโภค
การตัดราคาบางครั้งมันก็ไม่ได้มีแต่ข้อดี และลูกค้าจะตัดสินใจซื้อได้เสมอไป โดยเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่ามากๆ เมื่อทำการตัดราคาปุ๊บ ลูกค้าย่อมสงสัยแน่ๆ ว่าใช่ของแท้หรือไม่ ? ถ้าสินค้าของคุณเป็นสินค้าที่ต้องใช้ความเชื่อใจจากผู้บริโภค สิ่งที่ต้องทำเลยคือ ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นว่าของคุณมีคุณภาพ แบรนด์แท้ และเป็นไปตามมาตรฐาน ดีกว่าไปนั่งปวดหัวกับการตัดราคา เพราะลูกค้าก็ไม่ได้เน้นการซื้อของถูกอย่างเดียวซะหน่อย
7. สร้างการจดจำของแบรนด์ร้านค้าตั้งแต่ตอนนี้
สิ่งที่สำคัญทำให้ลูกค้าสามารถจดจำเราได้ก็คือแบรนด์นั้นเอง คุณอาจจะบอกว่าแบรนด์นี่มันต้องทำสินค้าตัวเองรึเปล่า ? จริงๆ เราไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ ดูอย่าง 7-11 ที่มีสินค้าหลากหลาย แต่คนก็ยังจดจำได้ว่าเป็นร้านสะดวกซื้อที่มีสินค้ามากมายหลายชนิดให้เลือก ดังนั้นแล้วคุณอาจจะสร้างการจดจำชื่อแบรนด์ร้านค้าของคุณให้ลูกค้าได้รู้จักว่าร้านคุณขายอะไร มีบริการอะไรเด่น และสินค้าอะไรบ้างที่เป็น Highlight พอลูกค้าเริ่มรู้จักคุณแล้ว การตัดราคามันก็จะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป
ฟังเรื่อง วิธีแก้เรื่องการตัดราคาสินค้าผ่าน YouTube
สรุป
สำหรับใครที่ดูจบแล้ว และเจอปัญหาของเรื่องการตัดราคาอยู่ก็อย่าเพิ่งกังวลไป ทุกปัญหามันย่อมมีทางออก ค่อยๆ คิด ค่อยๆ แก้ไขไป ลองเอาแนวทางเหล่านี้ไปปรับใช้กันดู เชื่อว่าผลลัพธ์มันออกมาได้ดีแน่นอน ยิ่งในเรื่องของการปั้นแบรนด์ร้านค้าสำหรับคนที่มีสินค้าหลาย SKU แล้ว แนะนำเป็นอย่างยิ่งว่าให้ทำเลยหลังจากจบคลิปนี้ ยิ่งคุณทำได้เร็วเท่าไหร่ ก็มีโอกาสคว้าใจลูกค้า และมันจะเป็นตัวชูโรงที่เพิ่มยอดขายให้คุณได้แบบก้าวกระโดดอย่างแน่นอน