“ผลิตภัณฑ์ทุกตัวย่อมมีความต้องการอยู่แล้ว หากไม่มีความต้องการอยู่จริงก็คงไม่มีใครผลิตขึ้นมาแน่ๆ“ ถ้าคุณเคยได้ยินคำว่า “Winner Product” แล้วล่ะก็ ความหมายที่เคยได้ยินมาคุณคิดว่าหมายถึงอะไรสำหรับคุณ ? แล้วคุณคิดว่าสินค้าตัวนี้มีมันจะมีความต้องการตลอดหรือไม่ ? หากคิดคำตอบได้แล้วให้เก็บไว้ในใจก่อน แล้วลองมาอ่านบทความเกี่ยวกับ Product Life Cycle หรือในชื่อที่คุ้นหูคือ “วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์”
Product Life Cycle แนวคิดการตลาดที่ทำให้คุณเข้าใจสินค้ามากขึ้น
Product Life Cycle คืออะไร ?
Product Life Cycle คือ วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการต่างๆ ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นเข้าสู่ตลาดไปจนกระทั่งเสื่อมความนิยมลง โดยจะแบ่งเป็น 4 ขั้นคือ
- ขั้นเริ่มต้นหรือขั้นแนะนำ (Introduction)
- ขั้นเจริญเติบโต (Growth)
- ขั้นเจริญเติบโตเต็มที่ (Maturity)
- ขั้นถดถอย (Decline)
สำหรับแต่ละขั้นนั้นก็จะมีวิธีทำการตลาดที่แตกต่างกันไปตามลำดับและมีระยะเวลาของแต่ละสินค้าอยู่แล้ว ถ้าจะให้เห็นภาพง่ายขึ้นสามารถดูจากกราฟด้านล่างได้เลย
Product Life Cycle Vs Winner Product
คำว่า “Winner Product” หลายคนก็เริ่มจะได้ยินบ่อยขึ้นเรื่อยๆ เพราะก็มีคนพูดถึงอยู่บ่อยครั้งทำให้เราเริ่มรู้จักกับมัน และ Winner Product ตามนิยามที่พูดถึงกันไปก็หมายถึง “สินค้าที่สามารถสร้างยอดขายได้อย่างมหาศาล และทำให้เรามีความเติบโตด้านยอดขายได้เป็นอย่างดี”
สำหรับความหมายของมันที่ทำให้เข้าใจแบบนี้ก็ไม่ผิด เพราะหากเราหาสินค้าที่สามารถทำยอดให้เราได้เราก็เหมือนกับสร้างความมั่นคงให้ธุรกิจได้แล้ว แต่จริงๆ การที่สินค้าใดๆ ก็ตามจะเป็น Winner Product ได้มันก็จะมีเรื่องของ Product Life Cycle เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกันมันถึงจะเกิดเป็น Winner Product ได้ ถ้ายังไม่เห็นภาพว่าเกิดมายังไง ลองดูหัวข้อถัดไปกันเลย
ระดับของ Product Life Cycle
ระดับของ Product Life Cycle จะมีทั้งหมดด้วยกัน 4 ระดับ และแต่ละระดับก็จะทำการตลาดแตกต่างกันไปตามขั้นของมัน โดยจะมีดังนี้
1. ขั้นเริ่มต้นหรือขั้นแนะนำ (Introduction)
เป็นช่วงแรกที่เกิดสินค้าขึ้น ตามปกติแล้วสินค้าที่ออกมาใหม่ก็จะมียอดขายที่น้อยมากเพราะคนจะยังไม่รู้จักกับสินค้าและฟีเจอร์ผลิตภัณฑ์ของเรา ทำให้ช่วงแรกๆ ของการขายของในขั้นแรกนั้นอาจจะได้กำไรบ้างเล็กน้อยไปจนถึงการขาดทุน สิ่งที่เราสามารถทำการตลาดให้กับขั้นเริ่มต้นหรือขั้นแนะนำได้ก็คือ “การทำการตลาด” เพื่อให้คนรู้จักกับสินค้าหรือบริการของเรามากขึ้น รวมถึงการลงทุนด้านต่างๆ เพื่อผลักดันให้สินค้าของเราสร้างการรับรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด และแน่นอนว่าในขั้นนี้จะมียอดขายที่โตขึ้นอย่างช้าๆ
2. ขั้นเจริญเติบโต (Growth)
ต่อจากขั้นของการเริ่มต้น ซึ่งขั้นนี้คนจะเริ่มรู้จักเรามากพอสมควรแล้วทำให้เรามียอดขายเติบโตมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด และมียอดขายเข้ามาเรื่อยๆ ขั้นนี้ปัญหาที่จะเกิดแน่ๆ คือการมีคู่แข่งเริ่มเข้ามาสู่ตลาดของเรา ทำให้เราเริ่มมีปัญหากำไรน้อยลงบ้างเล็กน้อย แต่ช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องกอบโกยกำไรให้ได้มากที่สุด แต่อย่าลืมเรื่องการบริการลูกค้าด้วย เพราะมันจะช่วยให้เราเติบโตได้อย่างมั่นคงไม่น้อยเลย
และถึงแม้ว่าจะมียอดขายที่เยอะมากขึ้น แต่ไม่ควรจะนิ่งเฉยเพราะคู่แข่งจะเริ่มเกิดขึ้นในตลาดทีละน้อย สิ่งที่เราควรทำในขั้นนี้เลยคือการพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ การทำโปรโมชั่นพิเศษ การเพิ่มช่องทางการขาย เพื่อตอกย้ำว่าเราคือเบอร์หนึ่งของสินค้านั้นๆ
3. ขั้นเจริญเติบโตเต็มที่ (Maturity)
ขั้นนี้จะเป็นขั้นของสินค้าหรือตลาดเริ่มมีความอิ่มตัวมากขึ้น รวมถึงเกิดคู่แข่งเข้ามาในตลาดอีกเพียบส่งผลกระทบทำให้เรามีการเติบโตทางด้านยอดขายช้าลงอย่างเห็นได้ชัด และมันจะเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของการทำกำไรจากสินค้าชนิดนี้นั่นเอง
สิ่งที่ควรทำเมื่อมาถึงในขั้นเจริญเติบโตอย่างเต็มที่คือ “พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แตกต่าง” และการหา “กลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ” ถ้าเกิดเราสามารถทำได้ดีมากพอ มันจะช่วยพาให้เราย้อนกลับไปยังขั้นเจริญเติบโตได้อีกครั้งแน่ๆ
4. ขั้นถดถอย (Decline)
เป็นขั้นที่ธุรกิจไม่สามารถยื้อให้ตัวเองอยู่ในขั้นเจริญเติบโตเต็มที่ได้อีกต่อไป นอกจากนี้ยังมีปัจจัยในเรื่องการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในตลาดของสินค้าชนิดนั้นๆ ทำให้เราไม่สามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดได้อีกต่อไป สิ่งที่เราจะทำได้ในขั้นนี้คือ “การรีบระบายของ” ยิ่งธุรกิจไหนปล่อยของได้ไวมากเท่าไหร่ โอกาสการขาดทุนก็จะลดน้อยลง หรือไม่ก็ติดต่อกับฐานลูกค้าเดิมเพื่อทำให้เกิดการซื้อซ้ำในลูกค้ากลุ่มนั้น และมันจะทำให้เราเจ็บหนักน้อยลง
คอร์สเรียน LINE Official Account พื้นฐาน เนื้อหาครบถ้วน พร้อมใช้งานเป็นทันที
ตัวอย่าง Product Life Cycle
ในที่นี้แอดขอยกตัวอย่างเป็นสินค้ากระแสอยู่ช่วงหนึ่งคือ “ผักอบกรอบ” สาเหตุที่ยกสินค้ากระแสนั้นจะทำให้คุณเห็นภาพได้ง่ายขึ้น เพราะหลายคนที่ทำธุรกิจหรือการค้าขายส่วนใหญ่ก็มักจะจับสินค้ากระแสเป็นอย่างแรกๆ ทำให้ขาดทุนมานักต่อนักแล้วถ้าคำนวณระยะเวลาของกระแสได้ไม่ดีพอ
1. ขั้นแนะนำ
ผักอบกรอบอาจจะเริ่มดังมาจากทาง Social Media เป็นหลัก ส่วนใหญ่สินค้ากระแสต่างๆ มักจะมาจากทาง TikTok และ Facebook อยู่เสมอสำหรับสินค้าหลายๆ ตัว โดยเริ่มต้นอาจจะเป็นการอัดคลิปสั้นๆ ทำให้คนเห็นสินค้าตัวนี้ จึงเกิดกระแสขึ้นมาทำให้คนรู้จักกับ “ผักอบกรอบ”
2. ขั้นเติบโต
หลังจากที่ได้เป็นกระแสบนโลกออนไลน์แล้ว ทีนี้ก็จะมีคนเริ่มตามหาสินค้า “ผักอบกรอบ” กันมากขึ้น ทำให้หลายคนที่มีสินค้าอยู่กับตัวมียอดขายเติบโตอย่างก้าวกระโดดจนบางเจ้ารับออเดอร์กันไม่ทันก็มี ช่วงนี้เป็นช่วงที่แทบจะไม่ต้องทำการตลาดใดๆ เพียงแค่โพสต์ปกติก็สามารถขายได้แล้ว
3. ขั้นอิ่มตัว
ขั้นนี้คู่แข่งจะเกิดขึ้นอย่างมากมาย เนื่องจากว่าเป็นสินค้าที่หาได้ทั่วไป ใครๆ ก็หามาได้และเหมือนๆ กันหมด ทำให้การแข่งขันจะมีความดุเดือดมากขึ้นเรื่อยๆ และเราจะได้เห็นสงครามตัดราคากันอย่างรุนแรง จากเดิมในช่วงขั้นเติบโตอาจจะขายได้ห่อละ 150 แต่ขั้นนี้จะเกิดสงครามราคาจนทำให้ราคาลดกันเหลือ 100 บาท หนักข้อเข้าที่แอดเคยเห็นเหลือราคา 59 บาทเลยก็มี
4. ขั้นถดถอย
ตอนนี้กระแสของผักอบกรอบซาลงอย่างมาก จนหลายเจ้าแบกสต็อกกันแทบไม่ไหวเนื่องจากว่าบางคนออกเทรนด์ไม่ทัน หรือไม่ได้คิดเผื่อว่ากระแสมันจะไปไว ช่วงนี้เราจะเห็นหลายคนจัดโปรโมชั่นหนักๆ เพื่อระบายออกไปให้เร็วที่สุด เพราะไม่อย่างนั้นแล้วเมื่อสินค้าหมดอายุ เราก็ต้องทิ้งเงินก้อนนั้นไปเลยก็ได้
สรุป
สิ่งที่สำคัญจะทำให้เราเจอ Winner Product ได้คือ การที่เรารู้จักวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์มากพอ ทำได้อย่างถูกเวลา ถูกวิธี มันก็ไม่ยากที่จะทำให้เกิด Winner Product ได้ และให้เราท่องในใจเลยว่า ไม่มีสินค้าไหนจะขายดีตลอด เราต้องหาใหม่หรือไม่ก็ปรับปรุงไปเรื่อยๆ อยู่เสมอ
แต่มีบางสินค้าที่จะสามารถพอย้อนวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ได้ก็จะเป็นในกลุ่มพวก IT มากกว่า เพราะพวกนี้จะมีโปรแกรมไว้ค่อยอัพเดทให้ใหม่อยู่เสมอ แต่ยังไงก็ไม่ยั่งยืนอยู่ดี